ความสำคัญของ Perio – Ortho กับประสบการณ์ไปบรรยาย
ในคอร์ส OLL (orthodontic life learning) ของ อ.แบงค์ (ทพ.ธนดล)
ก่อนที่ผมจะมีหลักสูตรสอน Perio-Sur ผมได้รับเคส Refer มาเยอะมากในปัญหา Perio-Ortho และผมเข้าใจความลำบากของคุณหมอหลายท่านที่แก้ปัญหา Perio ที่มักจะตามมาจากการจัดฟันไม่ได้
มีวันหนึ่ง คุณหมอแบงค์ ธนดล ติดต่อผมมาอยากให้ช่วยมาบรรยายหัวข้อหนึ่งในคอร์ส OLL ซึ่งผมจำหัวข้อการบรรยายในตอนนั้นได้ดี คือเรื่อง “Gummy smile correction”
เพราะในช่วงนั้น (ความจริงปัจจุบันนี้ก็ยังมีคุณหมอหลายท่านสนใจกันอยู่) หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่คุณหมอจัดฟันหลายๆท่านมักจะเกิดข้อสงสัยกันในเรื่องแนวทางการรักษา รวมทั้งสภาวะดังกล่าวนี้เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้บ่อยภายหลังการจัดฟัน ด้วยความที่ยากต่อการส่งต่อเคสให้หมอเฉพาะทางในหลายๆพื้นที่ หลายๆตำบล…จึงทำให้คุณหมอจัดฟันเกิดความสนใจขึ้นมาว่า เขาสามารถพิจารณาเลือกเคสที่พอจะทำเองได้มั้ย ? และถ้ามีขั้นตอนการรักษาอย่างไรบ้าง ?
ส่วนตัวผมมีความยินดีที่จะไปร่วมแบ่งปัน เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งที่เผยแพร่ความรู้ในกรณี Perio-Ortho เพราะเมื่อเรามีความรู้มากขึ้นเราย่อมสามารถดูแลคนไข้ได้ดียิ่งขึ้นและโอกาสที่จะผิดพลาดก็ย่อมน้อยลงตาม ด้วยความที่ส่วนตัวเคยบรรยายหัวข้อนี้มาหลายครั้ง และมีเคสไว้สอนอยู่ในระดับหนึ่ง จึงตอบตกลงไปตามปกติเพราะไม่มีขัดข้องใดที่จะแชร์ความรู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณหมอในสาขาที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่โจทย์ที่ผมได้รับต่อมาทำให้ผมรู้สึกงงไปสัก 5 วินาที คือ “การบรรยายเป็น onlineนะครับ”
ผมถึงมาทราบว่า OLL ของหมอแบงค์เป็นการสอนจัดฟัน Online แห่งแรกของประเทศไทย
ผมก็งงต่ออีกราวๆ 5 วินาทีพร้อมกับมีข้อสงสัยว่า
การเรียนจัดฟัน มันสามารถเรียน online กันได้ด้วยหรือ ?
แล้วจะฝึกปฎิบัติยังไง ?
แล้วอาจารย์จะสอนคลินิกยังไง เพราะจัดฟันมันต้องปฎิบัติไม่ใช่หรือ ?
ผมเก็บคำถามนี้ไว้ในใจ…
คุณหมอที่เข้ามาอ่านบทความนี้ทุกท่านก็คงจะมีข้อสงสัยที่คล้ายกันกับผมในตอนนั้นว่า “การเรียน onlineรูปร่างหน้าตามันจะออกมาเป็นอย่างไร มันจะเหมือนการเรียนแห้งมั้ย?”
อย่าว่าแต่นักเรียนเลย คนสอนมือใหม่อย่างผมในตอนนั้นก็ยอมรับว่ามีความสงสัยประกอบกับมีความประหม่าเป็นอย่างมาก จนถึงวันของการสอนจริง หมอแบงค์ (เจ้าของหลักสูตร OLL) จะคอยเป็นmodulatorให้ตั้งแต่เริ่มกดเข้า app. Zoom และคอยอำนวยความสะดวกตลอดการบรรยาย, การ mute ไมโครโฟนของหมอนักเรียนเพื่อไม่ให้มีเสียงกวนเข้ามาขณะบรรยาย ทำให้ตลอดการบรรยายเป็นไปอย่างราบรื่น ท้ายการบรรยายหมอแบงค์จะเปิดไมโครโฟนของหมอนักเรียนให้สามารถเริ่มพูดคุยโต้ตอบกับผมได้ และสำหรับหมอท่านไหนที่ไม่กล้าถาม(แบบออกเสียง) นักเรียนจะพิมพ์คำถามไว้เพื่อให้ผมได้ทำการตอบได้
ซึ่งจากการสอนในวันนั้นถือว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ของตัวเองขึ้นมาในระดับหนึ่ง ทำให้เห็นถึงความตั้งใจของคุณหมอนักเรียน ที่หลายๆท่านหลังเสร็จจากคลินิกในช่วงเย็นก็รีบมาตั้งหน้าตั้งตารอหน้าคอมฯ เพื่อเรียนรู้ในระยะเวลาวันนั้นน่าจะ 1 ชม.เศษๆ และหลังจากนั้นก็แยกย้ายไปทำภารกิจส่วนตัวกันตามปกติ…วันนั้นผมได้ค้นพบว่า “รูปแบบการเรียนแบบนี้ก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบเหมือนกันนะ” และผมก็บริหารจัดการเวลาง่าย เพราะไม่ต้องลางาน ไม่ต้องลาหยุดคลินิก แค่เพียงนั่งบรรยายหน้าคอมฯในห้องพักเท่านั้นเอง
พอบรรยายเสร็จ ผมก็มานอนนึกถึง OLL ว่าเขาจัดกระบวนการสอนยังไงถึงสามารถสอนจัดฟัน Online ได้ ?? ผมจึงมาตอบคำถามตัวเองในคำถามที่ผมค้างคาใจ
การเรียนจัดฟัน มันสามารถเรียน Online กันได้ด้วยหรือ ?
ตอบ : Online เป็นแค่ “รูปแบบ” การเรียน เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือ เข้าห้องเรียน หรือ ฟังเสียงบรรยาย คนเราเรียนได้ทุกที่ รูปแบบไหนก็ได้ สุดท้ายจะต้องรู้จริงและทำได้จริง
และไม่ว่ารูปแบบไหนนักเรียนจะต้องรับผิดชอบตัวเองให้มากถ้าอยากมีความรู้เพื่อเอาไปรักษาคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น
แล้วจะฝึกปฎิบัติยังไง ?
ตอบ : ผมคิดว่า Online เหมาะสำหรับบางอย่าง แต่มีหลายอย่างที่ Online ทำไม่ได้ เช่น การที่ต้องฝึกปฎิบัติ เป้นต้น เพราะฉะนั้นการที่ OLL มี 2-3 วันที่นัดนักเรียนมา Hands on ก็เพื่อมาเสริมในสิ่งที่ทำ Online ไม่ได้ , OLL จึงไม่ใช่ Pure Online (ซึ่งงานจัดฟันไม่น่าจะ Pure online อยู่แล้วใช่ไหมครับ)
แล้วอาจารย์จะสอนคลินิกยังไง เพราะจัดฟันมันต้องปฎิบัติไม่ใช่หรือ ?
ตอบ : ทำได้ถ้ามีระบบการติดตามและ Consult case ที่ใกล้ชิดระหว่างอาจารย์/นักเรียน
แปลว่าอาจารย์แบงค์คงงานหนักหน่อยกับการ Consult case ต่างๆกับนักเรียน ซึ่งที่ผมได้ยินมาจากนักเรียนคืออาจารย์แบงค์ติดตามและดูแลนักเรียนใกล้ชิดมากๆ คุยเคสกันถึงเที่ยงคืน ตี 1 กันจนเป็นเรื่องปกติเลย และผมคิดว่าจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นถ้าอนาคตนักเรียนจะได้ลงทะเบียนเรียนภาคคลินิกด้วย
ส่วนตัวผมชื่นชม อ.แบงค์ กับความตั้งใจที่จะสร้างรูปแบบใหม่ในการเรียนจัดฟัน และด้วยความที่ใหม่มากย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นธรรมดาและด้วยปี 2563 นี้ซึ่งเป็นปีที่ COVID-19 ระบาด การสอน Online กลายเป็นสิ่งที่ New normal ไปแล้ว เพราะอาจารย์และวิทยากรหลายคนก็ล้วนมาสอน Online กันเต็มไปหมด การเรียนการสอนจึงเปลี่ยนไปหมดแล้ว
ขอบพระคุณอาจารย์แบงค์ที่ให้เกียรติเชิญไปบรรยาย และผมก็ดีใจที่อาจารย์เห็นความสำคัญของ Perio-Ortho